08 เมษายน 2552

OTOP Thai Touch ในข่าวเที่ยงทีวีไทย ThaiPBS

ไม่จบอยู่แค่นี้แน่ ๆ ครับ อย่างที่แจ้งไว้ในบทความที่แล้วว่าความสำเร็จของโครงการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเสนอข่าวของโครงการของเราผ่านสถานีทีวีไทย (ThaiPBS) ในช่วงข่าวเที่ยงทีวีไทย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 (12.30 น.)

ครั้งนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ให้ความสนใจสัมภาษณ์ ปอ-ปรเมศวร์ เศรษฐาภรณ์ ในการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารตราสินค้าใหม่แก่ทองม้วนบางพูน และ ต่าย-กนกกาญจน์ บัญชาบุษบงษ์ ในการสร้างกลยุทธ์ใหม่การรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าดั้งเดิมให้กับรองเท้า Top Plate

สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับชม เราอัพโหลดให้ท่านชมได้ที่นี่เลยครับ

07 เมษายน 2552

ความสำเร็จของ OTOP Thai Touch ใน "รอบรั้ว มกค."

ไม่ใช่แค่การสื่อสารมวลชนภายนอกอย่างเดียวที่มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

นิตยสารภายในของมหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ความสำคัญของโครงการนี้เช่นเดียวกันครับ ในวารสารรอบรั้ว มกค. ปีที่ 15 ฉบับที่ 161 เดือนมีนาคม 2552 ที่ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานในพิธี และนายเลอเกียรติ แก้วศรีจันทร์ ปลัดจังหวัดปทุมธานี ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของแต่ละร้าน เข้าร่วมในพิธีเปิดกันอย่างพร้อมเพรียงกัน


06 เมษายน 2552

ภารกิจนิสิตพันธุ์ใหม่ ปั้น 7 โอท็อปสุดมหัศจรรย์

ได้เวลาเด็กไทยจะไม่เก่งแค่ในห้องเรียน และความเก่งจะไม่ถูกพิสูจน์เพียงการเขียนแผนธุรกิจสุดเจ๋งอีกต่อไป

... แต่เด็กไทยพอศอนี้ ต้องสามารถจับเอาทฤษฎีในตำรา มาแก้ปัญหาในสนามธุรกิจจริงได้
เรากำลังพูดถึงโครงการ “7 Wonders OTOP Showcase” การผนึกกำลังครั้งสำคัญของนักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พลังสมองของเด็ก Gen Y ที่จะนำความรู้ด้านการสื่อสารการตลาดมาพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชน 7 ผลิตภัณฑ์ จาก 7 อำเภอ ของจังหวัดปทุมธานี ให้กลายเป็น “โอท็อปสายพันธุ์ใหม่” ซึ่งโดดเด่นในโลกธุรกิจ เปี่ยมศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ โดยใช้พลังไอเดียนำหน้าเม็ดเงินในกระเป๋า

น้องๆ ใช้เวลาตลอด 2 เดือน คลุกคลีอยู่กับชุมชน สัมภาษณ์ พูดคุย ทำเวิร์คชอป วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้าน ตั้งคำถาม-ไขคำตอบ วิจัยตลาด ...สุดท้ายก็ได้ทางออกให้กับโอท็อปไทย

“นัท- ณัฐพงศ์ ศรีพลอยรุ่ง” และ “ปรเมศวร์ เศรษฐาภรณ์” ร่วมพลิกโฉมขนมทองม้วนโบราณ มาสร้างตำนานทองม้วนบางพูน “ที่ผ่านมาทองม้วน ไม่เคยมีระบุหลักแหล่งมาก่อนว่ามาจากไหน เราอยากทำให้เหมือนเวลานึกถึงขนมหม้อแกงก็ต้องเมืองเพชร จึงมาคิดทำให้มันเป็นขนมที่มีเรื่องราว มีที่มา เริ่มจากการเปลี่ยนชื่อยาวๆ อย่าง ทองม้วนรสเค็มสูตรโบราณ ของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาชีพสตรีบางพูน มาเป็น ทองม้วนบางพูนสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนภาพของขนมโบราณให้ทันสมัยขึ้น และชัดเจนถึงที่มาว่าเป็นขนมของชาวบางพูน”
หลังเปลี่ยนชื่อและสร้างโปรดักท์สตอรี่ ก็ต้องดึงเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น น้องๆ บอกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใส่ในทองม้วน แต่ไม่เคยนำจุดนี้มาขาย ทั้งที่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถทำให้ขนมหวานกลายเป็นขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ พวกเขาจึงเสนอให้ทองม้วนทองพูนเพิ่มจุดแข็งในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

แต่เศรษฐกิจไม่ดี จะให้ลงทุนปรับโน่นเปลี่ยนนี่มากมายคงไม่ได้ การปรับเปลี่ยนที่ดีที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด ก็แค่ให้เริ่มจากภายใน อย่างเรื่องของสัดส่วนและรูปลักษณ์ของขนม ที่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพื่อสร้างขนมที่แตกต่าง ซึ่งไม่ต้องลงทุนมหาศาลเพียงแต่ปรับวิธีทำบางขั้นตอนเท่านั้น
การปรับเปลี่ยนบางอย่าง นอกจากจะทำให้สินค้าชุมชนมีตลาดที่ใหญ่ขึ้น ยังเป็นการ "ลดต้นทุน" และ "เพิ่มกำไร" ได้ด้วย

"แก้ว - ศุจิมา แวววิริยะ" ตัวแทนกลุ่มกระยาสารท "อำนวย" ที่กำลังลบภาพขนมประเพณีอย่างกระยาสารท มาเป็นของกินเล่นขายได้ตลอดทั้งปี หลังจากลองนำขนมมาให้เพื่อนๆ ลองทานในห้อง และลงความเห็นว่า "ขนมอร่อย ทานแล้วอิ่มท้อง" น้องแก้วบอกเราว่า ผู้ประกอบการก็มีความคิดที่จะทำกระยาสารทให้เป็นสแน็ก จึงได้พัฒนาออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และแพ็คลงกล่องลายไทย ในชื่อ อำนวยขนมไทย
มองอย่างไรก็ได้แค่ "ของฝาก" ซื้อขายไม่คล่อง ขณะที่ค่าแพ็คเกจจิ้งก็สูง "พอต้องทำให้มันเป็นสแน็ก พวกเราเลยเสนอให้แพ็คออกมาเป็นชิ้นขนาดพอดีคำในซองพลาสติก จากนั้นก็นำมารวมใส่ถุงใบใหญ่อีกที วิธีนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านแพ็คเกจจิ้งลดลง และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างกล่องกระยาสารทเดิมเขาขายที่ 45 บาท ต้นทุนกล่องอยู่ที่ 5-6 บาท ใน 1 กล่อง อาจมี 20-30 ชิ้น แต่พอเรามาปรับให้ดูเป็นสแน็ก ต้นทุนลดลงครึ่งต่อครึ่ง คือถุงพลาสติกอยู่ที่ 2-3 บาท ส่วนจำนวนที่ขายจะลดลง อาจใส่ถุงละ 8-10 ชิ้น แต่ขายในราคา 25 บาท คือขายได้แพงขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้น ที่สำคัญถุงพลาสติก คนจะรู้สึกว่า เข้าถึงง่าย เป็นขนมง่ายๆ วางขายที่ไหนก็ได้ไม่ใช่แค่ร้านของฝาก โดยเราเปลี่ยนชื่อจาก อำนวยขนมไทย มาเป็น “อำนวย” เฉยๆ ให้มีกิมมิคเล็กน้อย คือด้านหนึ่งอำนวยคือชื่อของผู้ผลิต และสอง อำนวย สื่อความหมายถึงความง่าย สะดวก ซึ่งตรงกับตำแหน่งสินค้าที่เราวางไว้ว่าอยากให้ขนมของเรากินง่ายและสะดวก ตามสโลแกน .. "อำนวย อร่อยง่าย ได้ทุกที่"

น้องๆ บอกว่า การลงไปพัฒนาสินค้าร่วมกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปบอกให้พวกเขาใช้เงิน เพราะถ้ามีเงินมากทุกคนก็ทำเองได้ และมีวิธีที่จะทำได้มากมาย แต่ชาวบ้านมีงบประมาณจำกัด จึงเป็นหน้าที่ของนิสิตในการดึงองค์ความรู้จากห้องเรียนมาคิดหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ลงทุนให้น้อยที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์สูง และเงินที่ลงไปนั้นต้องส่งผลกับยอดขายทันทีด้วย เพราะทุกคนทำค้าขาย ไม่ต้องการอะไรที่เป็นแค่ภาพหรือความฝัน อย่างเช่นการปรับแพ็คเกจจิ้งเพื่อลดต้นทุน และเห็นกำไรที่กลับมาทันทีนั่นเอง

สิ่งที่น้องๆ คิดไม่มีอะไรซับซ้อน แต่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของสินค้าชุมชนได้ กระทั่งเรื่องของการทำข้อมูลแนะนำสินค้า หรือออกแบบโบรชัวร์ให้เป็นภาษาต่างประเทศ

“อัง - อังกูร สวนมณฑา” เลือกโจทย์สบู่ไม้ไผ่สีดำมะเมื่อม มาทำให้ชัดเจนในเชิงตลาด ด้วยการหาวิธีสื่อสารคุณสมบัติสินค้า เพิ่มช่องทางที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และแก้ปัญหาเสียลูกค้าต่างชาติด้วยการจัดทำโบรชัวร์แนะนำสินค้าเป็นภาษาอินเตอร์ "จุดอ่อนที่ผ่านมาคือชาวบ้านยังไม่เข้าใจเรื่องการสื่อสารการตลาด ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าไปใช้โดยที่ไม่รู้กระทั่งมันมีคุณสมบัติอย่างไร เราจึงสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้น โดยจัดทำเป็นคู่มือเล็กๆ คู่ไปกับสินค้า จากนั้นทำการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย

โดยการจัดทำบล็อกของสบู่ไม้ไผ่ "เว็บไซต์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างโอกาส และเข้าถึงกลุ่มคนรักสุขภาพได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์และหาข้อมูลจากเว็บไซต์อยู่แล้ว "ที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงแนะนำให้ลงโฆษณาในเว็บกูเกิล ที่สามารถระบุประเทศที่โฆษณาจะไปปรากฏได้ด้วย" สิ่งที่เราคงไม่รู้ถ้าไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน คือที่ผ่านมาพวกเขาต้องสูญเสียลูกค้าต่างชาติเพียงเพราะสื่อสารภาษาเดียวกันไม่เป็น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ง่ายกว่าที่คิด น้องๆ บอกว่า ก็แค่จัดทำโบรชัวร์เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา เวลาไปออกบูธเจอลูกค้าต่างบ้าน ก็สามารถแนะนำสินค้าผ่านสื่อภาษาเดียวกันได้

สิ่งที่น้องๆ พบจากการทำงานภาคสนาม คือความจริงที่ว่า สินค้าโอท็อป มีความสามารถในการผลิต สินค้ามีคุณภาพ มีภูมิปัญญา ชุมชนมีความจริงใจที่จะขายของดี แต่ที่ขาดคือความรู้เรื่องการตลาดล้วนๆ เหมือนที่ “ต่าย - กนกกาญจน์ บัญชาบุษบงษ์” จากกลุ่มรองเท้าหนังแท้หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์บอกกับเรา

"พวกเขาเหมือนคนที่ถนัดทำครัวอยู่หลังบ้าน แต่ให้มาเปิดร้านเริ่มไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จะบอกลูกค้าอย่างไรว่าสินค้านี้มันผ่านความยากลำบากมาขนาดไหน พวกเขาตั้งใจ หรือพิถีพิถันกับมันแค่ไหน พอขาดความรู้ตรงนี้ มันเหมือนไม่มีส่วนเติมเต็ม ยิ่งพอโอท็อปซบเซา รัฐบาลขาดการสนับสนุนต่อเนื่อง พวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามันไปไม่ไหวแล้ว เหมือนไม่มีอนาคต สุดท้ายก็จะถอดใจและเลิกทำในที่สุด แต่พอเรายื่นมือเข้าไปช่วย เห็นได้เลยว่าทุกคนเหมือนมีความหวังขึ้นมา เห็นทางว่ามันยังไปต่อได้ และให้ความร่วมมืออย่างดีเพื่อทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น"เช่นเดียวกับที่พวกเธอเข้าไปเสนอทางเลือกให้กลุ่มรองเท้าหนังแท้ ทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การทำฐานข้อมูลลูกค้า จัดแต่งหน้าร้านเสียใหม่ และลองใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งทางกลุ่มก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้นในที่สุด

ผลพลอยได้ที่ตามมาหลังการเข้าทำกิจกรรม คือมองเห็นโอกาสในธุรกิจ น้องๆ บอกว่า คิดกันขนาดที่จะต่อยอดมาทำกิจการของตัวเอง โดยนำผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านมาปรับให้เข้ากับวิถีผู้บริโภคยุคปัจจุบัน รวมถึงการเปิดหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าเพื่อขายสินค้าโอท็อป กระทั่งการทำหน้าร้านออนไลน์ นำเสนอสินค้าภูมิปัญญาไทย ให้กับคนทั่วโลก สนับสนุนผู้ประกอบการไทยอีกทางด้วย

กับผลงานที่ฝากไว้หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ทั้ง ขนมทองม้วนในลุคใหม่ กระยาสารทที่กลายมาเป็นขนมทานเล่น ขิงผงสำเร็จรูป รองเท้าหนังแท้ที่กำลังกลายเป็นผลิตภัณฑ์มีแบรนด์ ตลอดจน ขนมชะมดงาดำ ของประดิษฐ์จากเครื่องเทศ กระทั่ง สบู่ถ่านสมุนไพร

7 โอท็อปมหัศจรรย์ที่พร้อมสยายปีกอย่างงดงามต่อไปในวันนี้

พลิกโมเดล 7 wonders OTOP
  • เชื่อมความรู้การตลาด เข้ากับศักยภาพโอท็อป
  • นิสิตทำงานใกล้ชิดชาวบ้าน รู้ปัญหาที่ต้นตอ
  • ลงทุนให้น้อย ใช้ไอเดียให้มาก
  • คิดง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ชัดเจน และเห็นผล

สามารถคลิกที่นี่เพื่อดู หน้าตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (BizWeek) ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2552 (ปีที่ 4 ฉบับที่ 249) หน้า 4

ต่อยอดพัฒนาโอทอปปทุมธานี ม.หอการค้าไทยพลิกมิติเรียนรู้

เพิ่มเติมข่าวสารอัพเดดล่าสุดของมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่จบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360* รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-15 มีนาคม 2552 (ปีที่ 1 ฉบับที่ 15)

คลิกไปที่โลโก้ผู้จัดการ 360* ได้เลยครับ




05 เมษายน 2552

เมื่อ Webmaster ไปประชาสัมพันธ์งาน OTOP Thai Touch กับ ThinkCamp

หลังจากมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ได้จบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็ได้ข่าวจาก อาจารย์ ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าจะมีการรวมตัวของเหล่า Webmaster เกิดขึ้น และมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากการประชุม และสัมมนาแบบอื่น ๆ ชื่อว่า "THINKCAMP: ค่ายความคิด สะกิดเว็บไทย"

เป็นการที่เหล่า Webmaster ที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ (MacroArt) จากสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร นักเขียนจาก Business Week และดาวรุ่งของเมืองไทยมากมาย ได้ร่วมกันกำหนดหัวข้อสัมมนากับผู้ร่วมรับฟังด้วยตัวเอง หรือที่ผมอาจจะเรียกง่าย ๆ ที่ไม่มีในตำราเรียนว่า "สัมมนา 2.0" ฟังดูอาจเหมือนกับ "Web 2.0" ที่ผู้ฟังต้องมีการ Interactive กับผู้ฟัง และให้ผู้ฟังกำหนดหัวข้อสัมมนาด้วยตนเอง ผ่านสไลด์จำนวน 10 แผ่น และมีกำหนดเวลาให้สไลด์ละ 1 นาที ที่ได้ดัดแปลงมาจาก "pechakucha (เพ็ชชะ คู้ชชะ)" ซึ่งการพรีเซนต์แบบนี้มันบีบหัวใจจริง ๆ ครับ จะว่าสนุกแก่ผู้ฟังก็ว่าได้ และตื่นเต้นสำหรับผู้พูดน่าดูเลยเชียว

ครั้งนี้ก็ได้นำมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่ได้จัดผ่านไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เข้าไปร่วมนำเสนอในฐานะผู้ใช้งานจากสื่อใหม่จากยุค Social Network ครั้งนี้ด้วยครับที่มีการผสมผสานระหว่างสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) และสื่อใหม่ (New Media) แต่จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้จากที่นี่เลยครับ



ส่วน Slide Presentation ก็สามารถดูได้จากที่นี่ครับ