26 มิถุนายน 2552

ยกระดับขนมไทย "กระยาสารท" ของดีเมืองปทุม- รุกขายบนห้าง

คมชัดลึก: “กระยาสารท” เป็นขนมไทยอีกชนิดที่ได้รับความนิยมไม่น้อย คนยุคก่อนรับประทานแค่ปีละครั้งเฉพาะช่วงเทศกาลทำบุญวันสารทไทย ซึ่งตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่ถึงวันนี้ได้พัฒนาให้เป็นอาหารว่างคู่ชา กาแฟ ขนมกินเล่นหรือของว่าง อย่างกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยการนำของ นางอำนวย ลางคุณเสน ประธานกลุ่ม ภายใต้แบรนด์ "อำนวยขนมไทย" จนเป็นที่ยอมรับ หลังคว้ารางวัลชนะเลิศของดีเมืองปทุม

“เราซึมซับประเพณีนี้มาตั้งแต่เล็กจนกลายเป็นความผูกพัน และรักที่จะทำขนมไทยเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อมองเห็นช่องทางก็คิดอยากทำขายดูบ้าง แม้การทำจะไม่ยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้อร่อย ให้รสชาติโดนใจผู้บริโภค สร้างความต่างจากขนมกระยาสารทที่เคยทำกินกันเฉพาะพิธีบุญปีละครั้ง โจทย์ข้อนี้ท้าทายพอสมควร”

พรสรรค์บวกพรแสวงที่ได้จากการฝึกฝน ถูกพลิกแพลงหลายครั้งจนได้เป็นสูตรเฉพาะ ปี 2538 จึงผันตัวเองจากทำนามาเป็นแม่ค้ากระยาสารท ชักชวนเพื่อนบ้าน 9 คน ตั้งเป็น “กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย” มีทุนเริ่มต้น 2.5 หมื่นบาท จากการสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน อาศัยเพิงเล็กๆหน้าบ้านประกอบการ แรกๆ ทำกินกันเอง ที่เหลือหิ้วไปขายตามงานวัด งานโรงเรียน ตลาดนัด แต่ขายไม่ค่อยได้เหตุเพราะชาวบ้านทำกันเกือบทุกบ้าน

ในฐานะเสาหลักของกลุ่ม นางอำนวยจึงไม่หยุดนิ่ง เสียสละเวลาส่วนตัวไปอบรมหาความรู้ตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ ทั้งรสชาติ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ จนผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และโอท็อป 4 ดาว

ผลการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ปี 2544 กระยาสารทยี่ห้อ “อำนวยขนมไทย” ก็กลายเป็นที่รู้จักของชาวปทุมธานี เมื่อชนะใจกรรมการจนได้รับเลือกเข้ารับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดขนมกระยาสารทงานของดีเมืองปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สินค้าขายดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างยิ่งช่วงเทศกาล ล่าสุด ได้รับเลือกจากห้างเทสโก้ โลตัส ให้วางจำหน่ายในบูธสินค้าโอท็อปทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มช่องทาง กระจายสินค้าให้กว้างขึ้น ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนด้วย

"เราจะเน้นความสะอาด ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น สี ไม่มีสารกันบูด คัดวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สด ใหม่ ที่สำคัญใช้น้ำอ้อยแท้ 100% ไม่ผสมน้ำตาลปี๊บ ทำให้ได้กระยาสารทรสชาติกลมกล่อม ไม่หวานจนเกินไป กลิ่นหอมน้ำอ้อยแท้จากธรรมชาติ" อำนวยบอกถึงความพิเศษของผลิตภัณฑ์

ส่วนขั้นตอนการผลิตเริ่มจากนำข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา ไปคั่วให้สุกพอดี เตรียมน้ำอ้อย น้ำกะทิ มะนาว นมสดให้พร้อม นำกระทะตั้งไฟ เทน้ำอ้อยลงไป ตามด้วยน้ำกะทิ นมสดในสัดส่วนที่พอเหมาะเติมน้ำมะนาวเล็กน้อยเพื่อจางสีน้ำอ้อยให้มีสีเหลืองนวล เคี่ยวราว 2 ชั่วโมง จนเหนียวได้ที่นำข้าวตอกใส่ จากนั้นนำส่วนผสมที่เหลือเทรวมลงไปคนให้เขากันอีก 40 นาที ระหว่างนี้ใช้ไฟอ่อนๆ สังเกตดูส่วนผสมทุกอย่างเกาะติดกันจนเหนียวได้ที่ค่อยยกลงจากเตา แล้วนำไปเทในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ ใช้ลูกกลิ้งไม้ผิวเรียบอัดด้วยแรงเพื่อให้กระยาสารทเกาะแน่นติดกัน จากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้นๆ ก่อนแพ็กบรรจุภัณฑ์วางจำหน่าย

ปัจจุบันกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย มีสมาชิก 25 ชีวิต นอกจาก “กระยาสารท” แล้วยังผลิตขนมไทยจำหน่ายแบรนด์เดียวกันอีก 3 ชนิด ได้แก่ กะละแม ขนมกง และขนมสามเกลอ ส่งขายตามร้านของฝาก ร้านอาหาร ห้างเทสโก้ โลตัส ทั่วประเทศ มีให้เลือกหลายขนาด หลายราคา แบบบรรจุกล่องน้ำหนัก 300 กรัม ราคา 49 บาท ถ้าแพ็กเป็นถุง ถุงละ 20-35 บาท หรือชั่งเป็นกิโล กิโลกรัมละ 100 บาท

วันนี้แบรนด์ "อำนวยขนมไทย" เบียดพื้นที่ขายขนมไทยตามห้างร้านต่างๆ สร้างรายได้เฉลี่ย 5-7 หมื่นบาทต่อเดือน สนใจรู้เคล็ดลับการทำขนมไทยที่ยืนหยัดอยู่ได้นานถึง 16 ปี ติดต่อที่กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย หมู่ 6 ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โทร.0-2593-2403

"ธานี กุลแพทย์"
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์เกษตร เส้นทางทำมาหากิน

วันที่ 5 มิถุนายน 2552

http://www.komchadluek.net/detail/20090605/15661/%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87.html

19 พฤษภาคม 2552

ขนมชะมดงาดำ ออกรายการ "อาชีพนี้ คุณทำได้"

จากโครงการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่กลุ่มนักศึกษาปริญญาโท รุ่นที่ 10 หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสร้างสรรค์ผลการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์โอทอปจาก อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ที่จบไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่อยู่หนึ่งใน 7 Wonders Showcase ของเรานี้

ครั้งนี้ทางกลุ่มอาชีพรัตน์ห้า ผลิตภัณฑ์ขนมชะมดงาดำ ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ ได้ออกรายการ "อาชีพนี้ คุณทำได้" ทางโมเดิร์นนายน์ทีวี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.00-13.30 น. ที่ได้นำเสนอการผลิต และขั้นตอนการผลิตของขนมไทยโบราณที่ชื่อว่า "ขนมชะมดงาดำ กับ อรรถวีร์ กรรเจียก กลุ่มวิสาหกิจรัตน์ห้า"

เราได้นำเอารายการดังกล่าวมาไว้ที่นี่แล้วครับ



หรือกดที่นี่เพื่อรับชม http://hiptv.mcot.net/viewFlv.php?flvId=22111

ขอขอบคุณ: บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

08 เมษายน 2552

OTOP Thai Touch ในข่าวเที่ยงทีวีไทย ThaiPBS

ไม่จบอยู่แค่นี้แน่ ๆ ครับ อย่างที่แจ้งไว้ในบทความที่แล้วว่าความสำเร็จของโครงการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเสนอข่าวของโครงการของเราผ่านสถานีทีวีไทย (ThaiPBS) ในช่วงข่าวเที่ยงทีวีไทย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 (12.30 น.)

ครั้งนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ให้ความสนใจสัมภาษณ์ ปอ-ปรเมศวร์ เศรษฐาภรณ์ ในการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารตราสินค้าใหม่แก่ทองม้วนบางพูน และ ต่าย-กนกกาญจน์ บัญชาบุษบงษ์ ในการสร้างกลยุทธ์ใหม่การรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าดั้งเดิมให้กับรองเท้า Top Plate

สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับชม เราอัพโหลดให้ท่านชมได้ที่นี่เลยครับ

07 เมษายน 2552

ความสำเร็จของ OTOP Thai Touch ใน "รอบรั้ว มกค."

ไม่ใช่แค่การสื่อสารมวลชนภายนอกอย่างเดียวที่มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

นิตยสารภายในของมหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ความสำคัญของโครงการนี้เช่นเดียวกันครับ ในวารสารรอบรั้ว มกค. ปีที่ 15 ฉบับที่ 161 เดือนมีนาคม 2552 ที่ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานในพิธี และนายเลอเกียรติ แก้วศรีจันทร์ ปลัดจังหวัดปทุมธานี ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของแต่ละร้าน เข้าร่วมในพิธีเปิดกันอย่างพร้อมเพรียงกัน


06 เมษายน 2552

ภารกิจนิสิตพันธุ์ใหม่ ปั้น 7 โอท็อปสุดมหัศจรรย์

ได้เวลาเด็กไทยจะไม่เก่งแค่ในห้องเรียน และความเก่งจะไม่ถูกพิสูจน์เพียงการเขียนแผนธุรกิจสุดเจ๋งอีกต่อไป

... แต่เด็กไทยพอศอนี้ ต้องสามารถจับเอาทฤษฎีในตำรา มาแก้ปัญหาในสนามธุรกิจจริงได้
เรากำลังพูดถึงโครงการ “7 Wonders OTOP Showcase” การผนึกกำลังครั้งสำคัญของนักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พลังสมองของเด็ก Gen Y ที่จะนำความรู้ด้านการสื่อสารการตลาดมาพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชน 7 ผลิตภัณฑ์ จาก 7 อำเภอ ของจังหวัดปทุมธานี ให้กลายเป็น “โอท็อปสายพันธุ์ใหม่” ซึ่งโดดเด่นในโลกธุรกิจ เปี่ยมศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ โดยใช้พลังไอเดียนำหน้าเม็ดเงินในกระเป๋า

น้องๆ ใช้เวลาตลอด 2 เดือน คลุกคลีอยู่กับชุมชน สัมภาษณ์ พูดคุย ทำเวิร์คชอป วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้าน ตั้งคำถาม-ไขคำตอบ วิจัยตลาด ...สุดท้ายก็ได้ทางออกให้กับโอท็อปไทย

“นัท- ณัฐพงศ์ ศรีพลอยรุ่ง” และ “ปรเมศวร์ เศรษฐาภรณ์” ร่วมพลิกโฉมขนมทองม้วนโบราณ มาสร้างตำนานทองม้วนบางพูน “ที่ผ่านมาทองม้วน ไม่เคยมีระบุหลักแหล่งมาก่อนว่ามาจากไหน เราอยากทำให้เหมือนเวลานึกถึงขนมหม้อแกงก็ต้องเมืองเพชร จึงมาคิดทำให้มันเป็นขนมที่มีเรื่องราว มีที่มา เริ่มจากการเปลี่ยนชื่อยาวๆ อย่าง ทองม้วนรสเค็มสูตรโบราณ ของกลุ่มผลิตภัณฑ์อาชีพสตรีบางพูน มาเป็น ทองม้วนบางพูนสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนภาพของขนมโบราณให้ทันสมัยขึ้น และชัดเจนถึงที่มาว่าเป็นขนมของชาวบางพูน”
หลังเปลี่ยนชื่อและสร้างโปรดักท์สตอรี่ ก็ต้องดึงเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น น้องๆ บอกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาใส่ในทองม้วน แต่ไม่เคยนำจุดนี้มาขาย ทั้งที่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถทำให้ขนมหวานกลายเป็นขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ พวกเขาจึงเสนอให้ทองม้วนทองพูนเพิ่มจุดแข็งในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

แต่เศรษฐกิจไม่ดี จะให้ลงทุนปรับโน่นเปลี่ยนนี่มากมายคงไม่ได้ การปรับเปลี่ยนที่ดีที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด ก็แค่ให้เริ่มจากภายใน อย่างเรื่องของสัดส่วนและรูปลักษณ์ของขนม ที่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพื่อสร้างขนมที่แตกต่าง ซึ่งไม่ต้องลงทุนมหาศาลเพียงแต่ปรับวิธีทำบางขั้นตอนเท่านั้น
การปรับเปลี่ยนบางอย่าง นอกจากจะทำให้สินค้าชุมชนมีตลาดที่ใหญ่ขึ้น ยังเป็นการ "ลดต้นทุน" และ "เพิ่มกำไร" ได้ด้วย

"แก้ว - ศุจิมา แวววิริยะ" ตัวแทนกลุ่มกระยาสารท "อำนวย" ที่กำลังลบภาพขนมประเพณีอย่างกระยาสารท มาเป็นของกินเล่นขายได้ตลอดทั้งปี หลังจากลองนำขนมมาให้เพื่อนๆ ลองทานในห้อง และลงความเห็นว่า "ขนมอร่อย ทานแล้วอิ่มท้อง" น้องแก้วบอกเราว่า ผู้ประกอบการก็มีความคิดที่จะทำกระยาสารทให้เป็นสแน็ก จึงได้พัฒนาออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และแพ็คลงกล่องลายไทย ในชื่อ อำนวยขนมไทย
มองอย่างไรก็ได้แค่ "ของฝาก" ซื้อขายไม่คล่อง ขณะที่ค่าแพ็คเกจจิ้งก็สูง "พอต้องทำให้มันเป็นสแน็ก พวกเราเลยเสนอให้แพ็คออกมาเป็นชิ้นขนาดพอดีคำในซองพลาสติก จากนั้นก็นำมารวมใส่ถุงใบใหญ่อีกที วิธีนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านแพ็คเกจจิ้งลดลง และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างกล่องกระยาสารทเดิมเขาขายที่ 45 บาท ต้นทุนกล่องอยู่ที่ 5-6 บาท ใน 1 กล่อง อาจมี 20-30 ชิ้น แต่พอเรามาปรับให้ดูเป็นสแน็ก ต้นทุนลดลงครึ่งต่อครึ่ง คือถุงพลาสติกอยู่ที่ 2-3 บาท ส่วนจำนวนที่ขายจะลดลง อาจใส่ถุงละ 8-10 ชิ้น แต่ขายในราคา 25 บาท คือขายได้แพงขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้น ที่สำคัญถุงพลาสติก คนจะรู้สึกว่า เข้าถึงง่าย เป็นขนมง่ายๆ วางขายที่ไหนก็ได้ไม่ใช่แค่ร้านของฝาก โดยเราเปลี่ยนชื่อจาก อำนวยขนมไทย มาเป็น “อำนวย” เฉยๆ ให้มีกิมมิคเล็กน้อย คือด้านหนึ่งอำนวยคือชื่อของผู้ผลิต และสอง อำนวย สื่อความหมายถึงความง่าย สะดวก ซึ่งตรงกับตำแหน่งสินค้าที่เราวางไว้ว่าอยากให้ขนมของเรากินง่ายและสะดวก ตามสโลแกน .. "อำนวย อร่อยง่าย ได้ทุกที่"

น้องๆ บอกว่า การลงไปพัฒนาสินค้าร่วมกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปบอกให้พวกเขาใช้เงิน เพราะถ้ามีเงินมากทุกคนก็ทำเองได้ และมีวิธีที่จะทำได้มากมาย แต่ชาวบ้านมีงบประมาณจำกัด จึงเป็นหน้าที่ของนิสิตในการดึงองค์ความรู้จากห้องเรียนมาคิดหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ลงทุนให้น้อยที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์สูง และเงินที่ลงไปนั้นต้องส่งผลกับยอดขายทันทีด้วย เพราะทุกคนทำค้าขาย ไม่ต้องการอะไรที่เป็นแค่ภาพหรือความฝัน อย่างเช่นการปรับแพ็คเกจจิ้งเพื่อลดต้นทุน และเห็นกำไรที่กลับมาทันทีนั่นเอง

สิ่งที่น้องๆ คิดไม่มีอะไรซับซ้อน แต่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของสินค้าชุมชนได้ กระทั่งเรื่องของการทำข้อมูลแนะนำสินค้า หรือออกแบบโบรชัวร์ให้เป็นภาษาต่างประเทศ

“อัง - อังกูร สวนมณฑา” เลือกโจทย์สบู่ไม้ไผ่สีดำมะเมื่อม มาทำให้ชัดเจนในเชิงตลาด ด้วยการหาวิธีสื่อสารคุณสมบัติสินค้า เพิ่มช่องทางที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และแก้ปัญหาเสียลูกค้าต่างชาติด้วยการจัดทำโบรชัวร์แนะนำสินค้าเป็นภาษาอินเตอร์ "จุดอ่อนที่ผ่านมาคือชาวบ้านยังไม่เข้าใจเรื่องการสื่อสารการตลาด ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าไปใช้โดยที่ไม่รู้กระทั่งมันมีคุณสมบัติอย่างไร เราจึงสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้น โดยจัดทำเป็นคู่มือเล็กๆ คู่ไปกับสินค้า จากนั้นทำการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย

โดยการจัดทำบล็อกของสบู่ไม้ไผ่ "เว็บไซต์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างโอกาส และเข้าถึงกลุ่มคนรักสุขภาพได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์และหาข้อมูลจากเว็บไซต์อยู่แล้ว "ที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงแนะนำให้ลงโฆษณาในเว็บกูเกิล ที่สามารถระบุประเทศที่โฆษณาจะไปปรากฏได้ด้วย" สิ่งที่เราคงไม่รู้ถ้าไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน คือที่ผ่านมาพวกเขาต้องสูญเสียลูกค้าต่างชาติเพียงเพราะสื่อสารภาษาเดียวกันไม่เป็น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ง่ายกว่าที่คิด น้องๆ บอกว่า ก็แค่จัดทำโบรชัวร์เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา เวลาไปออกบูธเจอลูกค้าต่างบ้าน ก็สามารถแนะนำสินค้าผ่านสื่อภาษาเดียวกันได้

สิ่งที่น้องๆ พบจากการทำงานภาคสนาม คือความจริงที่ว่า สินค้าโอท็อป มีความสามารถในการผลิต สินค้ามีคุณภาพ มีภูมิปัญญา ชุมชนมีความจริงใจที่จะขายของดี แต่ที่ขาดคือความรู้เรื่องการตลาดล้วนๆ เหมือนที่ “ต่าย - กนกกาญจน์ บัญชาบุษบงษ์” จากกลุ่มรองเท้าหนังแท้หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์บอกกับเรา

"พวกเขาเหมือนคนที่ถนัดทำครัวอยู่หลังบ้าน แต่ให้มาเปิดร้านเริ่มไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จะบอกลูกค้าอย่างไรว่าสินค้านี้มันผ่านความยากลำบากมาขนาดไหน พวกเขาตั้งใจ หรือพิถีพิถันกับมันแค่ไหน พอขาดความรู้ตรงนี้ มันเหมือนไม่มีส่วนเติมเต็ม ยิ่งพอโอท็อปซบเซา รัฐบาลขาดการสนับสนุนต่อเนื่อง พวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามันไปไม่ไหวแล้ว เหมือนไม่มีอนาคต สุดท้ายก็จะถอดใจและเลิกทำในที่สุด แต่พอเรายื่นมือเข้าไปช่วย เห็นได้เลยว่าทุกคนเหมือนมีความหวังขึ้นมา เห็นทางว่ามันยังไปต่อได้ และให้ความร่วมมืออย่างดีเพื่อทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น"เช่นเดียวกับที่พวกเธอเข้าไปเสนอทางเลือกให้กลุ่มรองเท้าหนังแท้ ทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์ การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การทำฐานข้อมูลลูกค้า จัดแต่งหน้าร้านเสียใหม่ และลองใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งทางกลุ่มก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้นในที่สุด

ผลพลอยได้ที่ตามมาหลังการเข้าทำกิจกรรม คือมองเห็นโอกาสในธุรกิจ น้องๆ บอกว่า คิดกันขนาดที่จะต่อยอดมาทำกิจการของตัวเอง โดยนำผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านมาปรับให้เข้ากับวิถีผู้บริโภคยุคปัจจุบัน รวมถึงการเปิดหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าเพื่อขายสินค้าโอท็อป กระทั่งการทำหน้าร้านออนไลน์ นำเสนอสินค้าภูมิปัญญาไทย ให้กับคนทั่วโลก สนับสนุนผู้ประกอบการไทยอีกทางด้วย

กับผลงานที่ฝากไว้หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ทั้ง ขนมทองม้วนในลุคใหม่ กระยาสารทที่กลายมาเป็นขนมทานเล่น ขิงผงสำเร็จรูป รองเท้าหนังแท้ที่กำลังกลายเป็นผลิตภัณฑ์มีแบรนด์ ตลอดจน ขนมชะมดงาดำ ของประดิษฐ์จากเครื่องเทศ กระทั่ง สบู่ถ่านสมุนไพร

7 โอท็อปมหัศจรรย์ที่พร้อมสยายปีกอย่างงดงามต่อไปในวันนี้

พลิกโมเดล 7 wonders OTOP
  • เชื่อมความรู้การตลาด เข้ากับศักยภาพโอท็อป
  • นิสิตทำงานใกล้ชิดชาวบ้าน รู้ปัญหาที่ต้นตอ
  • ลงทุนให้น้อย ใช้ไอเดียให้มาก
  • คิดง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ชัดเจน และเห็นผล

สามารถคลิกที่นี่เพื่อดู หน้าตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (BizWeek) ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2552 (ปีที่ 4 ฉบับที่ 249) หน้า 4

ต่อยอดพัฒนาโอทอปปทุมธานี ม.หอการค้าไทยพลิกมิติเรียนรู้

เพิ่มเติมข่าวสารอัพเดดล่าสุดของมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่จบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360* รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-15 มีนาคม 2552 (ปีที่ 1 ฉบับที่ 15)

คลิกไปที่โลโก้ผู้จัดการ 360* ได้เลยครับ




05 เมษายน 2552

เมื่อ Webmaster ไปประชาสัมพันธ์งาน OTOP Thai Touch กับ ThinkCamp

หลังจากมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ได้จบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็ได้ข่าวจาก อาจารย์ ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าจะมีการรวมตัวของเหล่า Webmaster เกิดขึ้น และมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากการประชุม และสัมมนาแบบอื่น ๆ ชื่อว่า "THINKCAMP: ค่ายความคิด สะกิดเว็บไทย"

เป็นการที่เหล่า Webmaster ที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ (MacroArt) จากสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร นักเขียนจาก Business Week และดาวรุ่งของเมืองไทยมากมาย ได้ร่วมกันกำหนดหัวข้อสัมมนากับผู้ร่วมรับฟังด้วยตัวเอง หรือที่ผมอาจจะเรียกง่าย ๆ ที่ไม่มีในตำราเรียนว่า "สัมมนา 2.0" ฟังดูอาจเหมือนกับ "Web 2.0" ที่ผู้ฟังต้องมีการ Interactive กับผู้ฟัง และให้ผู้ฟังกำหนดหัวข้อสัมมนาด้วยตนเอง ผ่านสไลด์จำนวน 10 แผ่น และมีกำหนดเวลาให้สไลด์ละ 1 นาที ที่ได้ดัดแปลงมาจาก "pechakucha (เพ็ชชะ คู้ชชะ)" ซึ่งการพรีเซนต์แบบนี้มันบีบหัวใจจริง ๆ ครับ จะว่าสนุกแก่ผู้ฟังก็ว่าได้ และตื่นเต้นสำหรับผู้พูดน่าดูเลยเชียว

ครั้งนี้ก็ได้นำมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่ได้จัดผ่านไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เข้าไปร่วมนำเสนอในฐานะผู้ใช้งานจากสื่อใหม่จากยุค Social Network ครั้งนี้ด้วยครับที่มีการผสมผสานระหว่างสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) และสื่อใหม่ (New Media) แต่จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้จากที่นี่เลยครับ



ส่วน Slide Presentation ก็สามารถดูได้จากที่นี่ครับ

27 กุมภาพันธ์ 2552

7 Wonders OTOP Workshop & Showcase

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ มอบใบประกาศนียบัตรและถ่ายภาพร่วมกับ 7 ผู้ประกอบการ OTOP จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นเกียรติสำหรับความสำเร็จในการพัฒนาและยกระดับสินค้าโอทอปร่วมกัน ระหว่างนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด และกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป จ.ปทุมธานี ในกิจกรรม 7 Wonders OTOP Showcase จากผู้ประกอบการ 1 ผลิตภัณฑ์ในแต่ละอำเภอของทั้ง 7 อำเภอ ในจังหวัดปทุมธานี ดังนี้


  • กลุ่มขนมทองม้วนโบราณ ผลิตภัณฑ์ทองม้วนรสเค็ม ต. บางพูน อ.เมืองกลุ่ม

  • อาชีพสตรีคลองควาย ผลิตภัณฑ์กระยาสารท ต.คลองควาย อ.สามโคก

  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลิตชาเขียวใบหม่อน ขิงผงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ขิงผงสำเร็จรูป ต.คลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว

  • กลุ่มอาชีพสหกรณ์ผลิตรองเท้าหนังแท้หมู่บ้านไวท์เฮาส์ ผลิตภัณฑ์รองเท้าหนัง ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง

  • กลุ่มอาชีพรัตน์ห้า ผลิตภัณฑ์ขนมชะมดงาดำ ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ

  • วิสาหกิจชุมชนไพรสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สบู่ถ่านสมุนไพร ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเครื่องเทศ ต.ลำไทร อ.ลำลูกกา


ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในโครงการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
ศุจิมา แวววิริยะ โทร (081) 905-7896
คณะผู้จัดงาน UTCC-MC Day ครั้งที่ 10
หรือทาง Social Network http://otopthaitouch.blogspot.com/

22 กุมภาพันธ์ 2552

อัลบั้มภาพดิจิตอล OTOP THAI TOUCH: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

จากการทำงานทั้งเบื้องหลัง และเบื้องหน้าทั้งหมดของมหกรรม OTOP THAI TOUCH: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่จัดขึ้นระหว่าง นักศึกษาปริญญาโท รุ่นที่ 10 หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี ได้เสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

งานนี้มีภาพบรรยากาศในระหว่างการจัดงาน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาให้ชมกันอย่างจุใจกันเลยครับ เราแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ไว้อย่างครบเครื่องกันเลยทีเดียว ในลิ้งค์ของ MULTIPLY.COM Social network ของโครงการ ตามด้านล่างนี้เลยครับ

เบื้องหลังการถ่ายทำ Scoop VTR สำหรับมหกรรม OTOP Thai Touch
เบื้องหลังการเตรียมงานก่อนพิธีเปิด และหลังงานสัมมนา OTOP Thai Touch
งานพิธีเปิดมหกรรม "OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย" อย่างเป็นทางการ
งานสัมมนาวิชาการ "OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย" แก่ผู้ประกอบการ OTOP
บรรยากาศงานแฟร์ และสื่อประชาสัมพันธ์งาน OTOP Thai Touch
ทำบุญและบริจาคสิ่งของ "OTOP Thai Touch Chairty" ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพ

ชอบอัลบั้มไหน กดเข้าไปรับชมกันได้เลยครับ มีเยอะมากๆ กว่าร้อยภาพด้วยกัน
เพียงแค่คุณกด SAVE รูปจากอัลบั้มภาพที่ฟรี ไม่มีลิขสิทธ์แล้วท่านยังสามารถขอภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์ (ขนาดใหญ่) เฉพาะไฟล์ภาพนิ่งได้ที่

--------
คุณณัฐพงศ์ ศรีพลอยรุ่ง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ออนไลน์
OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย
Email: otopthaitouch@gmail.com , s.nuttaphong@gmail.com

17 กุมภาพันธ์ 2552

กำหนดการสัมมนาทางวิชาการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

กำหนดการสัมมนาทางวิชาการ
UTCC-MC Day ครั้งที่ 10

“OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย”
จัดโดย
นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด รุ่นที่ 10
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี
วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 13.30 - 17.00 น.
ณ ห้องประชุม อาคาร 10 ชั้น 2 (10201) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
++++++++++++++++++++++++++

13.30-14.00 น.
ลงทะเบียนและรับเอกสาร

14.00-14.45 น.
การบรรยาย เรื่อง “มิติสัมผัสสู่การสร้างตราสินค้าไทยให้ยั่งยืน”
วิทยากร: คุณนุวีร์ เลิศบรรณพงษ์
ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)

14.45-15.30 น.
การบรรยาย เรื่อง “สื่อสารตราสินค้าไทยอย่างไรในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ”
วิทยากร: รองศาสตราจารย์ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

15.30-15.45 น.
พักรับประทานอาหารว่าง

15.45-16.45 น.
เสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ประสบการณ์ในการสร้างมิติสัมผัสให้กับตราสินค้าไทย”
ดำเนินการเสวนา: นางสาวศรีอารียา ปรีชาจารย์ ประธานนักศึกษา รุ่นที่ 10

16.45-17.00 น.
จับสลากของรางวัลสำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนา และจบการสัมมนา

กำหนดการพิธีเปิดงาน OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

กำหนดการงานแสดงสินค้า UTCC-MC Day ครั้งที่ 10
“OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย”

จัดโดย
นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด รุ่นที่ 10
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี

การเปิดงานแสดงสินค้า “UTCC-Pathumthani OTOP Fair”
วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เวลา 12.00 - 14.20 น.
ณ บริเวณโถงอาคาร 1 และ 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
++++++++++++++++++++++++++

พิธีเปิดงาน

12.00 - 13.00 น.
แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนลงทะเบียน

13.00 - 13.15 น.
พิธีกรกล่าวต้อนรับ

13.15 - 13.20 น.
พิธีกรกล่าวแนะนำแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน

13.20 - 13.25 น.
พิธีกรกล่าวนำเข้าสู่วีดิทัศน์ “OTOP Thai Touch”

13.25 - 13.35 น.
วีดิทัศน์ “OTOP Thai Touch”

13.35 - 13.40 น.
กล่าวคำแถลงเปิดงาน โดย
นายเลอเกียรติ แก้วศรีจันทร์ ปลัดจังหวัดปทุมธานี

13.40 - 13.45 น.
กล่าวคำแถลงเปิดงาน โดย
ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

13.45 - 14.00 น.
พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 7 กลุ่ม
โดย ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

14.00 - 14.05 น.
การแสดงพิธีเปิด

14.05 - 14.10 น.
พิธีเปิดงานร่วมกัน โดย
นายเลอเกียรติ แก้วศรีจันทร์ ปลัดจังหวัดปทุมธานี และ
ดร.ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

14.10 - 14.00 น.
ประธานในพิธี แขกผู้มีเกียรติ และคณาจารย์ ถ่ายภาพร่วมกัน

14.00 - 14.20 น.
ประธานและแขกผู้มีเกียรติและคณาจารย์ ร่วมเดินชมบรรยากาศภายในงาน

13 กุมภาพันธ์ 2552

“ขนมชะมดงาดำ” OTOP ขนมไทยโบราณ...

"ขนมจากหัวใจที่ไม่ย่อท้อในการสืบทอดมรดกทางปัญญาจากบรรพบุรุษ"

จากกรุงเทพฯ ไปถึงคลองสิบสอง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่หมายของเรา ซึ่งก็คือบ้านพี่ “ฉวี” อรรถวีร์ กรรเจียก ประธานกลุ่มสตรีรัตน์ห้า ผู้ผลิตขนมไทยโบราณ OTOP ของดีเมืองปทุมธานี ที่มีชื่อไม่คุ้นหูอย่าง “ขนมชะมดงาดำ” เราจึงดั้นด้นไปถึงนั่นเพื่อดูวิธีการทำขนมชื่อแปลกๆ หาได้ยากในยุคนี้ แล้วก็พูดคุยถึงรายละเอียดความเป็นมาของกลุ่มอาชีพสตรีรัตน์ห้า

เมื่อถึงที่หมายก็เจอพี่ฉวีออกมายืนยิ้มรอต้อนรับพวกเราอยู่หน้าบ้าน แล้วก็เริ่มพาไปดูเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้เตรียมไว้สำหรับทำขนมกง-ชะมดงาดำ แถมยังให้เราได้ลองทำกันทุกคน เป็นที่สนุกสนานเฮฮา จากรูปร่างหน้าตาที่เรียกว่าค่อนข้างคล้ายต้นฉบับของพี่ฉวี ขนมชะมดงาดำ นั้นมีส่วนผสมก็คือ งาดำ น้ำตาลอ้อย แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ข้าวตอก (ซึ่งก็คือข้าวทอดพองเอาไปคั่วแล้วตำให้แตกอีกที ลำบากนะเนี่ย) สุดท้ายคือ กะทิ ที่พี่ฉวีใช้มะพร้าวมาคั้นเองสดๆ ไม่ได้ซื้อสำเร็จรูปมาแต่อย่างใด

กรรมวิธีการทำนั้น พี่ฉวี ก็ผสมแป้งข้าวเหนียวกับกะทิสด แล้วก็ใส่งาดำ น้ำตาลอ้อย ข้าวตอก นำมานวดให้เข้ากันจนเป็นก้อน แล้วก็นำไปปั้นเป็นก้อนกลมๆ เท่าหัวแม่มือ แล้วก็กดลงพิมพ์รูปวงแหวนให้แบนเหมือนเหรียญสิบบาท จากนั้นก็เอาออกจากพิมพ์ไปชุบกับ กะทิผสมแป้งข้าวเจ้า แล้วก็นำลงทอดให้กรอบ ฟัง (อ่าน) ดูเหมือนง่ายเลยเนาะ แต่จริงๆ แล้วก็ง่ายนั่นแหล่ะ (เอ๊ะยังไง?) จากนั้นเราก็มาทำขนมกง ซึ่งเป็นขนมที่ทานคู่กับขนมชะมดงาดำ ก็ปั้นยากอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่เกินความสามารถของเราอยู่แล้ว ขำขำ รายละเอียดขนมกงนั้นไม่ต้องบอกเยอะ เพราะหลายคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว

ทุกคนได้ลองทำขนมกันพอหอมปากหอมคอ พี่ฉวีขอพาเราไปดูอุปกรณ์ต่างในโรงงานผลิตขนมเล็กๆ ของแก ซึ่งก็มีเครื่องขูดมะพร้าว เครื่องกวน เครื่องอบ และเครื่องซีลถุงสุญญากาศใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งถอยออกมา จากนั้นก็ได้พูดคุยถึงการทำงานของกลุ่มอาชีพสตรีรัตน์ห้าตั้งแต่ความเป็นมา สภาพสมาชิก สินค้าของกลุ่ม ช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ ประกอบกับการเดินชมพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมของพี่ฉวี ก็มีกระเดื่องไม้โบราณ กับเครื่องโม่หินโบราณ อุปกรณ์ทำขนมแบบโบราณต่างๆ ส่วนที่สำคัญ พี่ฉวีได้เขียนรายละเอียดความรู้ทางวิชาการต่างๆ ติดไว้บนผนัง รวมถึงรูปถ่ายและเอกสารต่างๆ ก็ได้รวบรวมใส่แฟ้ม ให้ทางกลุ่มและผู้มาดูงานได้ศึกษาอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เมื่อได้ข้อมูลมาพอสมควรเราก็ลากลับ แถมพี่ฉวียังใจดีให้ขนมติดมือมาอีกด้วย ใจจริงจะอุดหนุนอยู่เหมือนกัน อิอิ แต่ขนมโดนเหมาไปหมดตั้งแต่เมื่อวาน เหลือให้พวกเรามาคนละถุงไว้ทานเล่น พี่ฉวีของพวกเรานี่นอกจากขยัน แล้วยังใจดีจริงๆ

ติดตามชมดิจิตอลอัลบั้มการเยี่ยมชมของกลุ่มนี้ได้ใน OTOP Thai Touch ที่นี่ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/11/11

12 กุมภาพันธ์ 2552

เบื้องหลังการถ่ายทำสกู๊ป OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

นำทีมโดยฝ่ายเทคนิคของโครงการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย และที่สำคัญทางทีมงานได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำงานเบื้องหลังอย่างเซียนตัวจริงไปพร้อม ๆ กันด้วย ส่วนบรรยากาศการทำงานจริงของผู้ประกอบการใน 7 อำเภอ ทั่วจังหวัดปทุมธานี เพื่อที่จะรวบรวมเข้ามาตัดต่อ และจะนำไปจัดแสดงในระหว่างงานสัมมนา “OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย” ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 นี้

ครั้งนี้เราได้ใช้เวลากัน 2 วันเต็ม ระหว่างวันเสาร์ที่ 7 และวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการตะลอน ๆ เดินทางกันไปทั่ว จนได้ทราบถึงขั้นตอน และกระบวนการทำงานของผู้ประกอบการ OTOP ทั้งหมด และได้เห็นถึงมุมมอง การใช้ชีวิตของแต่ละผู้ประกอบการ OTOP ในแต่ละอำเภอ ในการสู้ชีวิต และที่มาของผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ทำให้ทีมงานของพวกเรากระตุ้นเตือนตัวเองว่า ชีวิตไม่สิ้นต้องดิ้นกันไป


สุดท้ายต้องขอขอบคุณผู้ร่วมงานมือโปร ในการดำเนินการให้การถ่ายทำครั้งนี้ราบรื่นไปได้ด้วยดี จาก คุณธเนส เกษรรัตน์ Senior Producer มือเยี่ยมของ บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ที่มาช่วยกำกับภาพ และเป็น Producer ให้กับทีมงานของเราในการถ่ายทำสกู๊ปรายการในครั้งนี้ด้วยครับ .. ขอบอกครับ อย่างโปร!!!

และเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนี้ครับ
ศุจิมา แวววิริยะ (แก้ว) ที่นัดหมาย Senior Producer ที่ทำรายการเจาะเกาะติด ทางช่อง 7 สี มาทำ VTR และไปถ่ายทำให้เราในครั้งนี้ พร้อมทั้งเป็นที่พักพิงทางใจ (ส่วนตัวด้วย)
วรฐ เชิงทอง (อ๋อง) ตากล้องที่ทำการถ่ายภาพให้เราทั้ง 2 วัน และพาเราไปทุกที่ ใน จ.ปทุมธานี โดยไม่หลงทาง
กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง (กระต่าย) ที่ไปกับกองถ่ายทุกวันแบบ Non stop
ธนพันธ์ จารุจารีต (บอย) จัดของประกอบฉาก ยกขาตั้ง ทำทุกอย่างแบบไม่บ่นเลย
พรรณพัชร ขยันสำรวจ (เบิร์ท) บังแดด จัดแสง เขียนสคริป ลงเสียง “เอ่อ...พี่ขอแบบ พี่ปุ๊ มนตรี นะครับ...”

ที่ขาดไม่ได้ คือ เพื่อน ๆ ทั้ง 7 กลุ่ม ที่รุดไปเตรียมตัวให้ก่อนระหว่าง ผู้ประกอบการให้กองถ่ายสำเร็จไปได้ด้วยดี

และติดตามภาพกิจกรรมเก็บตกเบื้องหลังกองถ่ายได้ ผ่าน OTOP Thai Touch ดิจิตอลอัลบั้มผ่าน Social Network ของโครงการเรา คลิกตรงนี้เลยครับ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/13/13





08 กุมภาพันธ์ 2552

OTOP Thai Touch Television

จากการสื่อสารการตลาด (Integrated Marketing Communication: IMC) สู่การสร้างตราสินค้าและการสื่อสารตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดปทุมธานี ไปสู่ผู้บริโภคให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ทำให้โครงการ "OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย" เกิดขึ้นได้อย่างไร ไปดูกันเลยครับ

07 กุมภาพันธ์ 2552

กำหนดการ OTOP Thai Touch Workshop "เทคนิคการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ"

กำหนดการอบรมเชิงปฎิบัติการ
เรื่อง
“เทคนิคการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ”
จัดโดย
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี

วันเสาร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552
ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

**********************************

08.30- 09.00 น.
ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมลงทะเบียน

09.00-10.30 น.
การบรรรยาย เรื่อง “เทคนิคการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ”
โดย อาจารย์ตรรกะ เทศศิริ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
และประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท ไอสไตน์ จำกัด

10.30-10.45 น.
พักรับประทานอาหารว่าง

10.45-12.00 น.
ฝึกปฏิบัติการนำเสนองาน

12.00-13.00 น.
รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และจบการอบรม

05 กุมภาพันธ์ 2552

นิเทศศาสตร์การตลาด ม.หอการค้าไทย ยกเครื่อง OTOP สู่มิติใหม่

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการ UTCC-MC Day ครั้งที่ 10 “OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย” ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาบูรณาการความรู้เชิงทฤษฎีทางการสื่อสารการตลาดไปสู่การทำงานจริง และยังเป็นการบริการทางวิชาการให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอปสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและยกระดับสินค้าโอทอปให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจได้

ดร. ถกล นันธิราภากร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการในหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักศึกษาได้มีโอกาสประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของนักศึกษาให้ได้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานจริง อีกทั้งยังเป็นความตั้งใจของคณะนิเทศศาสตร์ที่จะให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป ให้สามารถยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปจากการเป็นสินค้าของท้องถิ่น ให้กลายมาเป็นสินค้าทางธุรกิจที่สามารถแข่งขันและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยในครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปทุมธานี ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดปทุมธานีจำนวน 7 ผลิตภัณฑ์มาเป็นกรณีศึกษา โดยให้นักศึกษาปริญญาโท นำองค์ความรู้ทางด้านการสื่อสารการตลาดและหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การสร้างแบรนด์ เทคนิคการนำเสนอผลงานอย่างมืออาชีพ ฯลฯ มาช่วยวางแผนและคิดค้นกลวิธีในการสื่อสารตราสินค้าเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าโอทอป เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการ โอทอป ได้มีความรู้ความเข้าใจในการสร้างและพัฒนาตราสินค้าให้มีเอกลักษณ์และมีความแตกต่างของตราสินค้าอย่างชัดเจน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตราสินค้าโอทอปให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้”

นายเสริมพงษ์ รัตนะ พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปของจังหวัดปทุมธานีมีทั้งสิ้นจำนวน 277 ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์โอทอปที่ผ่านการคัดสรรแล้วจำนวน 181 ผลิตภัณฑ์ จากทั้ง 7 อำเภอ ซึ่งเราได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์โอทอประดับ 3 ดาว จาก 7 อำเภอ อำเภอละ 1 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสินค้าโอทอป จาก 3 ดาว ไปเป็น 4-5 ดาว โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการสินค้าที่มีความตั้งใจในการผลักดันสินค้าโอทอปของตนเองไปสู่การแข่งขันทางธุรกิจ แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและขาดกลยุทธ์ในการสร้างและสื่อสารตราสินค้าอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าของชุมชนเกิดการพัฒนา ซึ่งกระผมคิดว่าการร่วมมือกันกับทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยผลักดันผู้ประกอบการและเพิ่มศักยภาพให้สินค้าโอทอป ของจังหวัดปทุมธานีมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ ยกระดับชุมชน และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปให้แข่งขันทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”

ดร. ถกล นันธิราภากร กล่าวปิดท้ายอีกว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้เปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอปจากที่อื่นๆ นักธุรกิจ และประชาชนที่สนใจในเรื่องการพัฒนาและการสร้างตราสินค้า มาร่วมฟังการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “OTOP Thai Touch : มิติสัมผัสตราสินค้าไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารการตลาดมาบรรยาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดไอเดียทางธุรกิจของผู้ประกอบการให้สามารถยกระดับและพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจได้

และนอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตร-มหาบัณฑิตที่ได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาสินค้าโอทอปของจังหวัดปทุมธานีร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ มาจัดแสดงให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างและการสื่อสารตราสินค้า ในระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2552 อีกด้วย”
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “OTOP Thai Touch : มิติสัมผัสตราสินค้าไทย” สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ otopthaitouch@gmail.com และสามารถติดตามรายละเอียดโครงการ OTOP Thai Touch เพิ่มเติมได้จาก Social Network ของโครงการทาง http://otopthaitouch.blogspot.com ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และสามารถรับชมดิจิตอลอัลบั้ม ในงานแถลงข่าว OTOP Thai Touch ได้ที่นี่ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/12

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศุจิมา แวววิริยะ โทร. 081-905-7896
ถนอมศรี พิรานุศิษฎ์ โทร. 081-206-6659
คณะผู้จัดงาน UTCC MC-Day ครั้งที่ 10

01 กุมภาพันธ์ 2552

Update ข่าวสาร OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

เกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กับโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ในกิจกรรมที่เราได้สรรค์สร้างระหว่าง หลักสูตรนิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ กรมพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี เราได้จัดทำอะไรบ้าง มีอะไรคืบหน้ากันบ้าง กับสื่อบนอินเตอร์เน็ต หรือสังคมออนไลน์ (Social Network) ด้านล่างนี้เลยครับ มีคำตอบให้คุณ

1. Blog ศูนย์รวมข่าวสาร OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่มีการ Update กิจกรรม กลุ่มผู้ประกอบการ นักศึกษา หน้าที่ต่าง ๆ ของทีมงาน และกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่นี่เลย http://otopthaitouch.blogspot.com/

2. อัลบั้มภาพดิจิตอล OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่เน้นรูปแบบการเสนอกิจกรรมออนไลน์ ที่ใช้รูปภาพกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแทนการเล่าเรื่องที่มีอยู่ เพื่อให้ผู้ชมได้ทราบถึงเรื่องราวของงาน OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด ที่นี่เลย http://otopthaitouch.multiply.com/

3. อัพเดดด่วนสุด ๆ ผ่านเครือข่ายใหม่ที่สุดของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ของ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ผ่าน Twitter.com ที่เน้นเพียงประเด็นเรื่องราวต่าง ๆ แนะนำด่วนแบบสั้น ๆ ผ่านข้อความที่ทุกคนเข้าใจง่าย และสามารถติดตาม (Follow up) ได้ทันท่วงที เหมือนกับว่าคุณเป็นเพื่อนใกล้ชิดของ OTOP Thai Touch กันเลยทีเดียว กดรับข่าวสารบนเครือข่ายได้ที่นี่ ฟรี http://twitter.com/otopthaitouch

หรือแม้แต่ข่าวสารที่มีนอกจากนี้แล้ว OTOP Thai Touch ยังส่งข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ในพันธมิตรข่าวสารหลักทั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรายการโทรทัศน์ วิทยุต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เช่น

ThaiPR.Net
ประเด็นข่าว: ภาพข่าว: ม.หอการค้าไทยสร้างแบรนด์ OTOP










ThaiPR.Net
ประเด็นข่าว: ม.หอการค้าไทย จัด WORKSHOP “กลยุทธ์การสร้างตราสินค้า และการสื่อสารตราสินค้า OTOP” นำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ



ASTVผู้จัดการออนไลน์
ประเด็นข่าว: ม.หอการค้า จัดโครงการส่งเสริมโอทอปไทย










นี่เป็นเพียงแค่เริ่มต้นกับโครงการ จึงใคร่ขอเรียนเชิญผู้สื่อข่าวทุกแขนง พบกันในวันแถลงข่าวกับมหกรรม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30 น. - 15.00 น. ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

คุณศุจิมา แวววิริยะ และ คุณถนอมศรี พิรานุศิษฎ์
คณะผู้จัดงาน UTCC-MC Day ครั้งที่ 10
โทร. (081) 905-7896, (081) 206-6659

blogs: http://otopthaitouch.blogspot.com/
photos: http://otopthaitouch.multiply.com/
twitter: http://twitter.com/otopthaitouch
email: otopthaitouch@gmail.com

เก็บตกบรรยากาศ เบื้องหลังงานแถลงข่าว OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

จากงานแถลงข่าว OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นี้ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำให้วันอาทิตย์ ทีมงานนักศึกษาปริญญาโท (IMC UTCC ฝ่ายทีมงานชาย) ได้เข้าไปจัดเตรียม และแสวงหาอุปกรณ์ตกแต่งที่จะนำมาวางในวันแถลงข่าว ณ โกดังสินค้าย่านพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ

กว่า 15 ชีวิต รวมถึงทีมงานสตรีที่มีน้ำใจในการช่วยเหลือต่างทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยให้การจัดเตรียมอุปกรณ์ในวันดังกล่าวสำเร็จอย่างดียิ่ง

มาถึงขั้นนี้แล้วต้องขอขอบคุณผู้ที่มีน้ำใจต่อทีมงานให้เราทำงานได้อย่างสำเร็จลุล่วงในวันนี้อย่างหาที่สุดไม่ได้เลยจ้า
คุณจักรกฤษ กฤษณายุธ (เพื่อนแปลก)
เอื้อเฟื้อรถกระบะในการขนส่งอุปกรณ์ทุกอย่าง เห็นบอกแว่ว ๆ มาว่า ถึงขนาดออกรถป้ายแดงมาเลยทีเดียว

คุณบุญญะนิตย์ ภุชงค์ประเวส (เพื่อนบอย บุญ)
เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ในประกอบการฉาก ในวันแถลงข่าว และในวันแสดงสินค้า

คุณอังกูร สวนมณฑา (เพื่อนอัง)
เอื้อเฟื้อรถกระบะในการขนส่งอุปกรณ์ ที่เสี่ยงต่อการโดนจับอย่างสูงกว่าใคร ๆ

คุณธนพันธ์ จารุจารีต (เพื่อนบอย บาป).... ฮะล้อเล่งงง..
เอื้อเฟื้อแผนการจัดเตรียมการขนส่งให้สำเร็จลุล่วง

ที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ ทีมงานสตรีที่มีจิตใจงดงาม ที่ช่วยเหลือให้การขนส่งครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนี้

คุณน้องเพ็ญ ไม่ทราบนามสกุล (แฟนสาวเพื่อนปอ)
เอื้อเฟื้อแรงงานสตรี ที่ทำให้ผู้ชายที่ไปด้วยเป็นตุ๊ดกันไปตาม ๆ กัน

คุณเดียร์ ไม่ขอเปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริง (แฟนสาวเพื่อนบอย บุญ)
อาสาช่วยถ่ายภาพในวันดังกล่าวให้เราได้มาเก็บตกในวันนี้

ทำให้การจัดเตรียมงานสำเร็จลุล่วงสำหรับงานแถลงข่าว OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ไปได้ด้วยดี ต้องขอขอบคุณทุกท่านในการเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยค้าาา..

และรับชมบรรยากาศในการจัดเตรียมได้ ในดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย ได้ที่นี่ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/10/10

31 มกราคม 2552

งานแถลงข่าว OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย

กำหนดการแถลงข่าว
OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย
จัดโดย
นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด (IMC) รุ่นที่ 10
ศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี
วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 14.00 น. - 15.30 น.
ณ โถงอาคาร 10 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


13.30 - 14.00 น.
สื่อมวลชนลงทะเบียน

14.00 - 14.10 น.
พีธีกรกล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติเข้าสู่งาน

14.10 - 14.40 น.
เริ่มการแถลงข่าว พิธีกรเรียนเชิญผู้แถลงทั้ง 2 ท่านขึ้นบนเวที
แถลงข่าวร่วมกันโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ในประเด็น : คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลักดันนักศึกษาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริง

กับการเปิดตัว 7 Wonders OTOP Showcase และ
นายปรีชา บุตรศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
ในประเด็น : 7 ผลิตภัณฑ์ OTOP สู่การยกระดับตราสินค้า

14.40 - 14.50 น.
พิธีกรกล่าวสรุป พร้อมเรียนเชิญถ่ายภาพร่วมกัน

14.50 - 15.00 น.
ปิดการแถลงข่าว พิธีกรเรียนเชิญสื่อมวลชนสัมภาษณ์ตามอัธยาศัย

ขิงผงสำเร็จรูป OTOP อำเภอลาดหลุมแก้ว

25 มกราคม 2552 เวลาน่าจะตอนบ่าย พวกเรามีนัดกับกลุ่ม OTOP ออมทรัพย์ผลิตชาเชียวใบหม่อน ของอำเภอลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี การออกเดินทางไปพบ คุณจันจิรา (พี่ตา) เป็นประธานกลุ่ม เราได้รับมอบหมายให้ทำการสื่อสารการตลาด (IMC) ของขิงผงสำเร็จรูป ซึ่งกว่าจะไปถึงนะค่ะ ขอบอกว่าหลงตลอดทางเลยค่ะ แต่พี่ตาของเราดีมาก รู้แน่ว่าเราคงหลงทาง โทรบอกทางกันตั้งแต่ออกจนถึงเลย พี่ตาเราน่ารักที่สุด เมื่อเราไปถึงมีการต้อนรับเป็นอย่างดี วันที่เราไปพบพี่ตานั้นเราก็ได้พูดคุยถึงตัวผลิตภัณฑ์ OTOP ความเป็นมาของกลุ่มเริ่มขึ้นมาได้ยังไง



ตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิตและรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ทำให้พวกเรารู้ได้เลยว่ากว่าจะออกมาเป็น 1 ถุง ค่อนข้างลำบากพอสมควร คุยไปมารวมไปถึงเรื่องส่วนตัวพี่ตาไปเลย สนุกดีค่ะ เราคุยกันอยู่ประมาณ 1.30 ชั่วโมง หลังจากนั้นพี่ตาพาชมสถานที่ที่ผลิตขิงผงสำเร็จรูป ถึงตอนนี้เกิดเหตุการณ์ที่เราคิดไม่ถึง บวกกับความพยายามของพี่ตา ซึ่งสถานที่คุยกับสถานที่ผลิตอยู่คนละที่กัน เราต้องเดินเข้าไปอีกที่หนึ่ง เมื่อถึงที่หมาย ปรากฏว่าประตูล็อคค่ะ ไม่สามารถเข้าไปชมสถานที่นั้นได้ เนื่องจากกุญแจที่จะไขเข้าไปในห้องนั้นอยู่กับน้องชาย ซึ่งน้องชายไปต่างจังหวัดยังไม่กลับมา และทันใดนั้นเอง ความพยายามของพี่ตาที่อยากจะให้พวกเราดูอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ได้ แกเลยใช้คีมหนีบอันใหญ่มากมาปลดล็อคกุญแจออกอย่างง่ายดาย (“เป็นไงความบ้าพลังของพี่”) พวกเรายืนอึ้งดูด้วยความพยายามของพี่ตา บอกได้คำเดียวเลยว่าน่าประทับใจมากค่ะ

พอเราดูเสร็จ พี่ตาก็ใช้กุญแจตัวใหม่ล็อคประตูใหม่เลย พี่ตาบอกกับเราว่า “ทำเพื่อน้องๆทุกคน” หลังจากนั้นเราก็อุดหนุนพี่เขาด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อยู่ในกลุ่ม อาทิ เช่น ขิงผงสำเร็จรูป ชาใบหม่อน กระชายดำผง กันมาหลายถุง แต่ขอบอกค่ะ เมื่อชิมแล้วอร่อยจริง ๆ ค่ะ คราวหน้าไปจะซื้อกลับมาอีกแน่นอนค่ะ




ติดตามดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch ของกิจกรรมกลุ่ม OTOP ออมทรัพย์ผลิตชาเชียวใบหม่อน ได้ที่นี่เลยจ้า.. http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/9/9

28 มกราคม 2552

OTOP สบู่ถ่าน ของดีธัญบุรี



อำเภอธัญบุรี ชื่อนี้หลาย ๆ คนที่ขับรถผ่านเส้นทางนั้นบ่อย ๆ คงเป็นเพียงแค่ทางผ่านจากจังหวัดปทุมธานีเพื่อเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวใน จังหวัดนครนายก แต่ อ.ธัญบุรี มีอะไรมากกว่านั้น ทีมงานของเรานั้นได้นัดหมายในการไปเยี่ยมชมกลวิธีการผลิตสบู่ถ่านสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ OTOP จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ไพรสมุนไพร อำเภอธัญบุรี ซึ่งการเดินทางใช้เส้นทาง มอเตอร์เวย์จากรามอินทรา ตัดออกเส้น นครนายก คลอง 5และขับตรงต่อไปอีกเพียงนิดเดียว ก็ถึงที่หมาย โดยเมื่อทีมงานไปถึงทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันไพรสุนไพรกำลังขมักเขม้นกับการทำผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชนอยู่โดยทางพี่ ๆ ได้เตรียมอาหารกลางวันไว้คอยต้อนรับทางทีมงานได้อิ่มหนำสำราญอย่างคาดไม่ถึง นับได้ว่าเป็นมิตรไมตรีที่ทาง ทีมงานจะไม่ลืมอย่างแน่นอน



หลังจากที่อิ่มอร่อยกับอาหารกันแล้ว ทางทีมงานได้มาดูกลวิธีการทำ สบู่ถ่านสมุนไพร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เลื่องชื่อของอำเภอธัญบุรี โดยที่ทางพี่ ๆ วิสาหกิจชุนชน ได้เปิด โอกาสให้ทีมงานได้ทดลองทำ สบู่ถ่านสมุนไพรด้วยตั้วเอง ตั้งแต่ ขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจากการที่ได้ใกล้ชิดกับกลวิธีการทำอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทางทีมงานมีความเห็นเหมือนกันว่า สบู่ถ่าน นั้นมีประโยชน์ อย่างมากมายและคาดไม่ถึงจริง ๆ


ทีมงานได้ใช้เวลาอยู่กับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ไพรสมุนไพร ตลอดทั้งวันทำให้ได้รู้ว่า ทางกลุ่ม ไม่ได้มีเพียง ผลิตภัณฑ์ OTOP อย่างสบู่สมุนไพร แต่ยังมีการทำขนมต่างๆมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวเกรียบ, เค้กช็อคโกแลต, ทอฟฟี่เค้ก และที่ไม่ใช่ของกินอย่าง กระเป๋าสะพาย การบูรที่ใช้ดับกลิ่นซึ่งมีการทำแพ็คเกจอย่างสวยงาม

ซึ่งจากการที่ได้มีการพูดคุยกับ พี่วันเพ็ญ แสงทองย้อย หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนพันธุ์ไพรสมุนไพร ทำให้ทางทีมงานได้รับรู้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ อำเภอธัญบุรี จากความมุ่งมั่นและตั้งใจ ผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอธัญบุรี จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ชั้นนำของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
รับชมดิจิตอลอัลบั้ม OTOP สบู่ถ่านเพิ่มเติม คลิกเลยครับ ใน OTOP Thai Touch http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/8/8

24 มกราคม 2552

กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย OTOP อ.สามโคก ไปมาแว้วววว......


หลังจากได้ไปเยี่ยมกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย อ.สามโคก OTOP ของดี จังหวัดปทุมธานี ตอนแรกคิดว่าไกลมาก ๆ แต่ที่ไหนได้อยู่ไม่ใกล้ๆนี่เอง เพียบแค่เลยที่ว่าการอำเภอสามโคกไปอีกแค่ 10 นาทีเอง

พอไปถึงกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย พบกลุ่มแม่บ้านจำนวน 10 คน นั่งแพ็คกาละแม OTOP กันอย่างสนุกสนาน โดยการนำของพี่อำนวยและชาวคณะ หลังจากทำความรู้จักถามถึงความลำบากในการเดินทางหลังจากจบการทักทายต่างๆ กลุ่มนักศึกษาไม่รอช้าแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแม่บ้านทันที แต่ละคนลงมือช่วยกลุ่มแม่บ้านแพ็คกาละแมกันอย่างสนุกสนาน
พร้อมกับการสอบถามถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ OTOPกระยาสารทของทางกลุ่ม แพ็คไปคุยไปหันมาดูอีกทีกาละแมที่จะต้องแพคลงกล่องไม่ได้ลงกล่องเสียแล้ว กาละแมได้หายเข้าปากนักศึกษาอย่างไม่ขาดสาย หลังจากแพ็คกาละแมเสร็จถึงคราวพระเอกของวันนี้การแพ็คกระยาสารท เหมือนอย่างเช่นเคย แพ็คไปกินไป สนุกสนานบวกอิ่มอร่อย พูดแล้วก็ยังนึกถึงความอร่อยไม่หาย

และจากการที่ได้ลงไปสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากกลุ่มสตรีคลองควายครั้งนี้ ได้รับการบอกจากกลุ่ม OTOP ว่า พวกเราสามารถช่วยงานต่าง ๆ ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี น่าจะอยู่ทำงานด้วยกันที่นี่เสียเลย เพราะวันนี้ที่ได้มาทดลองงานถือว่าผ่านโปร OTOP แล้ว (หุ ๆ .....เรียนจบมีอาชีพรองรับแล้ว)

รับชมดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch ของกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ได้ที่นี่ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/7/7

ขนมทองม้วนสูตรโบราณ OTOP กลุ่มอาชีพสตรีบางพูน

เดินทางออกจากแยกรังสิต เลี้ยวซ้ายไปเพียงแค่ไม่เกิน 2 กม. เองครับ อยู่ใกล้กับสตูดิโอเวิร์คพ้อยต์ กลุ่มอาชีพนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลบางพูน อำเภอเมือง ที่มีความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ


วันนี้ทีมงานได้มาเยี่ยมในเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม ประธานกลุ่ม OTOP โดย คุณสุชาดา วัชโรทยาน ได้ให้การต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ถึงประมาณ 9 โมงเช้า กลุ่มอาชีพกำลังขมักเขม้นกับการผสมสูตรทองม้วนกันอยู่ เลยเข้าไปร่วมชมกระบวนการผลิตตามขั้นตอนอันหอมกรุ่นไปด้วยเครื่องเทศอันมีคุณประโยชน์ พร้อมกับเชิญชวนให้ทีมงาน นำโดยคุณถนอมศรี พิรานุศิษฎ์ ได้ขึ้นไปนั่งผลิตทองม้วน OTOP ด้วยตนเอง งานนี้ มีทั้งอิ่ม และได้เข้าใจถึงกระบวนการผลิตไปตาม ๆ กัน


นอกจากนี้แล้วทางเจ้าหน้าที่ของทางศูนย์ ยังได้ให้ขึ้นไปเยี่ยมชมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ตำบลบางพูน ที่มีกิจกรรมอันหลากหลาย เช่น นวดจับเส้นแก้ปวดเมื่อย การเรียนการสอน กศน. ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์สงเคราะห์เด็กเล็ก หรือห้องออกอากาศผ่านหอกระจายข่าว และอีกมากมายที่ทำให้ชุมชนนี้เกิดความเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง


ก่อนจะกลับออกมาทางทีมงานยังได้อุดหนุนกลุ่มอาชีพสตรีด้วยทองม้วนทั้งรสหวานและรสเค็มอันลือชื่อ “ทองม้วนบางพูน” OTOP ของดีอำเภอเมืองปทุมธานี กว่า 10 ถุง และหวังว่าทีมงานจะกลับไปเยี่ยมเยียนอีกเร็ว ๆ นี้


รับชมดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch ของกลุ่มอาชีพสตรีบางพูนได้เพิ่มเติม ที่นี่ http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/6/6

ตามไปดูกลุ่มรองเท้า TOP PLATE

ได้ไปเยี่ยมชมมาแล้ว อยู่ใกล้ ๆ นี้เอง ถึงก่อนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (รังสิต) ลง Toll Way แล้ว ชิดซ้ายเข้าทางคู่ขนาน สุดรั้วโรงงานไทยเมล่อน แล้วซ้ายประมาณ 200 เมตร เป็นอาคารพาณิชย์ อยู่ซ้ายมือ หัวหน้ากลุ่ม (พี่ศุภการ) OTOP อ.คลองหลวง น่ารักมาก ต้อนรับอย่างดี

สำหรับสินค้านี้มีให้เลือกมากมายหลายแบบทั้งชาย และ หญิง ทั้งใส่ทำงาน และใส่เที่ยว ส่วนมากทำงานหนังวัว หนังช้าง หนังนกกระจอกเทศ ออกแบบได้สวยมาก ราคาก็เป็นกันเองสุด ๆ และได้เห็นกระบวนการผลิตที่ประณีตมาก เป็นการเย็บด้วยมือทั้งสิ้น เป็นเคล็ดลับที่ทำให้สินค้าคงทนถาวร พอเดินไป เดินมาที่ร้าน ได้เห็นกล่องรองเท้ายี่ห้อดัง หลายยี่ห้อกองอยู่มาก
แล้วความลับก็เปิดเผย ว่า รองเท้ายี่ห้อดัง ๆ หลายยี่ห้อก็มาจ้างที่นี่ผลิตให้ เช่น Dockers เป็นต้น หลังจากได้เยี่ยมชมสักพัก ก็มีลูกค้าเข้ามาซื้อรองเท้า โดยลูกค้ารายนี้เท้ามีปัญหา จึงหาซื้อรองเท้าตามขนาดและแบบตามที่ต้องการไม่ได้ จึงมาให้ที่นี่ตัดให้ จึงทำให้เราได้เห็นกระบวนการตัดรองเท้าของพี่ศุภการแบบสด ๆ ทั้งกระบวนการวัดเท้า และ กระบวนการวาดแบบ ตามความต้องการของลูกค้า (ตอนแรกนึกว่า im adidas) เจ๋งจริง ๆ

คุยกับพี่ศุภการอยู่พักใหญ่ เลยหิวจึงขอตัวกลับ แต่ก่อนกลับทีมงานที่ไปเยี่ยมชม ต่างก็ต้องเสียเงินไปตาม ๆ กัน โดยอุดหนุนรองเท้า OTOP ทางกลุ่มฯ พี่เค้ามาแค่ 7 คู่เอง



รับชมดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch ของกลุ่มนี้ได้ใน

เจาะลึกกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเครื่องเทศ

จากการได้เข้าไปเยี่ยมชมกับ OTOP ผู้ผลิต "ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเครื่องเทศ" ได้รับการต้อนรับอย่างดีและเป็นกันเอง จากพี่ ไขแสง ร่มโพธิ์ทอง ซึ่งจากการเข้าพบในครั้งนี้ ได้รับความรู้ในเรื่องการผลิตงานที่เรียกกันว่างาน Handmade ซึ่งได้สัมผัสอย่างลึกซึ้งว่างานชนิดนี้ นั้นไม่ได้ผลิตกันง่าย ๆ ต้องมีความพิถีพิถันอย่างยิ่ง





ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกโครงสร้างต้องมีความละเอียด ในการคัดเลือกทั้งขนาดและวิธีการตัดไม้เป็นสำคัญ ส่วนในด้านงานฝีมือภายในโครงสร้างจะต้องมีการคัดผู้ที่จะสรรค์สร้างโดยผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัว โดยต้องมีการคัดเลือกสิ่งที่จะใส่ไว้ในกล่องอย่างละเมียดละไม เพื่อให้เกิดงานที่ต้องมีความประณีตและสวยงามโดนใจผู้ที่รักในงานฝีมือที่มีเฉพาะตัวอย่างนี้ การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องเทศก็ไม่ใช่งานที่ง่าย ๆ ต้องมีการใช้วิธีการเฉพาะตัวที่จะทำให้สินค้าไม่มีปัญหาในภายหลัง โดยปัจจุบัน สามารถเก็บรักษาด้วยกลวิธีที่ทางกลุ่มได้ศึกษามาเป็นเฉพาะทางอย่างดีและไม่เป็นอันตรายด้วย

พี่ ๆ ทีมงานก็ให้การพูดคุยกันอย่างสนุกสนานและเต็มที่กับทีมงานชาวมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้รับความรู้กันไปอย่างเต็มที่ ซึ่งหากคิดว่างาน OTOP Handmade เป็นสินค้าที่คิดว่าราคาแพงแล้ว หากได้สัมผัสวิธีการประดิษฐ์แล้วจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่ราคาที่แพงอีกเลย และนอกจากนี้ยังเป็นงานที่ส่งผลถึงคุณค่าในส่วนลึก ๆ ได้อีกด้วยและหากเพื่อนๆต้องการที่จะไปสัมผัสหรือต้องการเยี่ยมชมกับผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าหลงใหลและดึงดูดในตัวเองอย่างนี้ OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย แนะนำไปชมที่ สวนจตุจักรโครงการ 15 ซอย 1 ได้


รับชมดิจิตอลอัลบั้ม OTOP Thai Touch ของกลุ่มนี้ได้ใน http://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/4/4

19 มกราคม 2552

ม.หอการค้าไทย จัด WORKSHOP “กลยุทธ์การสร้างตราสินค้า และการสื่อสารตราสินค้า OTOP” นำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ


คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดปทุมธานี จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “กลยุทธ์การสร้างตราสินค้าและการสื่อสารตราสินค้า OTOP” เพื่อเสริมสร้างความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการในการสร้างตราสินค้า รวมทั้งให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างผู้ประกอบการและนักศึกษาปริญญาโท สาขา นิเทศศาสตร์การตลาด ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมทำกิจกรรม Workshop ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก


งานนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ภูสิต เพ็ญสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนาโนเสิร์ช จำกัด และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการค้า-การลงทุนแผนใหม่ (ITDC) บรรยายเรื่อง “กลยุทธ์และการวิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจ” และอาจารย์ปริญญา ชุมรุม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายเรื่อง “การจัดทำแผนการสื่อสารการตลาดสินค้า OTOP” พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการและนักศึกษายังได้ร่วมฝึกปฏิบัติการเขียนแผนการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำองค์ความรู้ที่เล่าเรียนมาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปปฏิบัติจริง โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และร่วมมือร่วมใจกันระหว่างนักศึกษาและผู้ประกอบการที่ช่วยกันคิดและวางแผนอย่างเต็มความสามารถ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

ในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 44 ท่าน โดยแบ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์การตลาดจำนวน 30 ท่าน และผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 ดาว จาก 7 อำเภอ ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มขนมทองม้วนโบราณ ผลิตภัณฑ์ทองม้วนรสเค็ม ต. บางพูน อ.เมือง

  2. กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ผลิตภัณฑ์กระยาสารท ต.คลองควาย อ.สามโคก

  3. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลิตชาเขียวใบหม่อน ขิงผงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ขิงผงสำเร็จรูป ต.คลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว

  4. กลุ่มอาชีพสหกรณ์ผลิตรองเท้าหนังแท้หมู่บ้านไวท์เฮาส์ ผลิตภัณฑ์รองเท้าหนัง ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง

  5. กลุ่มอาชีพรัตน์ห้า ผลิตภัณฑ์ขนมชะมดงาดำ ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ
    วิสาหกิจชุมชนไพรสมุนไพร

  6. ผลิตภัณฑ์สบู่ถ่านสมุนไพร ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี

  7. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเครื่องเทศ ต.ลำไทร อ.ลำลูกกา
โดยมีนายเสริมพงษ์ รัตนะ พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรประชาสัมพันธ์ธุรกิจ และอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้เกียรติเป็นประธาน ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจังหวัดปทุมธานี ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ประกอบการ OTOP ครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ในหัวข้อ “เทคนิคการนำเสนอผลงานอย่างมืออาชีพ (Presentation Technique)” โดย อาจารย์ตรรกะ เทศศิริ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอน์สไตน์ จำกัด

และสามารถติดตามโฟโต้อัลบั้มภาพในกิจกรรมดังกล่าวได้ในhttp://otopthaitouch.multiply.com/photos/album/2/2

ทำไมต้อง OTOP Thai Touch

การสื่อสารการตลาด ที่ระบุไว้ว่า จุดสัมผัส (Touch Point) คือ ตราสินค้า ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการของผลิตภัณฑ์ OTOP กับผู้บริโภค ทำให้คณะนักศึกษาปริญญาโท รุ่นที่ 10 สาขาวิชานิเทศศาสตรการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ศึกษาอยู่ในวิชาสัมมนาสื่อสารการตลาด (Seminar in Marketing Communication) ที่ให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์ไอเดียต่อการตราสินค้า หรือสามารถสื่อสารตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ OTOP ออกไปสู่ผู้บริโภคได้

ทำให้คำว่า "OTOP Thai Touch: มิติสัมผัสตราสินค้าไทย" ได้มาจากการลงมติร่วมกันของคณะนักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าว โดยมีที่มาจากอะไรบ้าง ดังนี้เลย...

OTOP : ผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
Thai : เสริมสร้างผลิตภัณฑ์ของความเป็นไทย
Touch: จุดเชื่อม หรือจุดสัมผัสระหว่างผลิตภัณฑ์ OTOP และผู้บริโภค

สัมผัส OTOP Thai Touch ผ่าน Social Network ได้ที่ไหนบ้าง
http://otopthaitouch.blogspot.com หน้าบล็อกส่วนตัวของโครงการ
http://otopthaitouch.multiply.com หน้าบล็อกในการรับชมภาพกิจกรรมดีๆ
http://twitter.com/otopthaitouch ติดตามทุกลมหายใจผ่านอัพเดดด่วน
otopthaitouch@gmail.com ติดตาม สอบถามความเคลื่อนไหว

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ยังมีกิจกรรมดี ๆ อีกเยอะที่รอคุณอยู่ แต่จะกิจกรรมเป็นอย่างไร รูปแบบจะเป็นแบบใด มีอะไรบ้างที่น่าติดตาม พบกันเร็ว ๆ นี้

หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์: OTOP


ความเป็นมาของรัฐบาลเมื่อหลายปีก่อนที่ได้ริเริ่ม "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์: OTOP" เป็นแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละหมู่บ้าน หลากหลายตำบล ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้มีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง โดยใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น และสรรค์สร้างจากภูมิปัญญาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้

จากความคิดริเริ่มของผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีอยู่ในท้องตลาด ทำให้นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รุ่นที่ 10 ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสินค้า แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของตลาดที่มีสูงขึ้น ที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน และความต้องการของตลาดมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิด "การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการ: Integrated Marketing Communications (IMC)" ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ขึ้น เพื่อเป็นสิ่งที่จะทำให้สินค้าที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP สามารถเรียนรู้ทำการสร้างตราสินค้าได้ด้วยตนเอง และสามารถสื่อสารตราสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ